วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เรื่อง ระบบย่อยอาหาร


วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เรื่อง ระบบย่อยอาหาร
หัวข้อในบทเรียน มีดังนี้
1.1 การย่อยอาหารของจุลินทรีย์
1.2 การย่อยอาหารของสัตว์
        1.2.1 การย่อยอาหารของสัตว์ที่ไม่มีทางเดินอาหาร
        1.2.2 การย่อยอาหารของสัตว์ที่มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์
        1.2.3 การย่อยอาหารของสัตว์ที่มีทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์
1.3 การย่อยอาหารของคน
        1.3.1 การย่อยอาหารในปาก
        1.3.2 การย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร
        1.3.3 การย่อยอาหารในลำไส้เล็ก
*********************************************************
1.autotroph หมายถึงสิ่งมีชีวิตกลุ่มใด
        1. สิ่งมีชีวิตที่มีระบบการย่อยอาหารแบบสมบูรณ์
        2. สิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารได้เองโดยอาศัยอินทรียสารและพลังงานจากสิ่งแวดล้อม
        3. สิ่งมีชีวิตที่อาศัยสารอินทรีย์จากภายนอกโดยไม่มีการย่อย
        4. สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอาหารจากซากพืชหรือซากสัตว์
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
ออโตโทรฟ ( autotroph ) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้ โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งอาศัยอินทรียสาร น้ำ และพลังงานจากสิ่งแวดล้อมภายนอก สิ่งมีชีวิตพวกนี้จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยอาหารที่เป็นสารประกอบอินทรีย์จากภายนอก ได้แก่ พืชและโพรทิสต์ที่สร้างอาหารได้
*********************************************************
2. heterotroph ได้แก่สิ่งมีชีวิตกลุ่มใด
        1. สัตว์และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สร้างอาหารเองไม่ได้
        2. สัตว์ที่สามารถสร้างอาหารเองได้เพราะมีรงควัตถุ
        3. สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้โดยอาศัยพลังงานจากภายนอก
        4. แบคทีเรียและสาหร่ายบางชนิดที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
เฮเทอโรโทรฟ ( heterotroph ) หมายถึงกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ต้องอาศัยสารอินทรีย์ที่เป็นสารอาหารจากภายนอก ได้แก่ พืชและสัตว์ จึงต้องมีกระบวนการย่อยสารอาหารให้มีโมเลกุลขนาดเล็กลง จนสามารถดูดซึมผ่านเข้าไปภายในเซลล์ได้ สิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ ได้แก่ สัตว์และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สร้างอาหารเองไม่ได้ เช่น อะมีบา พารามีเซียม และราทุกชนิด เป็นต้น
*********************************************************
3. พืชชนิดใดไม่มีระบบย่อยอาหาร
        1. หม้อข้าวหม้อแกงลิง
        2. หยดน้ำค้าง
        3. กาบหอยแครง
        4. กาฝาก
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง หยดน้ำค้าง และว่านกาบหอยแครง ต่างก็เป็นพืชที่มีสมบัติพิเศษ คือ มีระบบการย่อยอาหาร ได้แก่ แมลงตัวเล็กๆ ที่ดักจับได้ และสามารถดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วเข้าสู่เซลล์ได้ พืชพวกนี้เรียกว่า carnivorous plants ส่วนกาฝากเป็นพืชที่แตกต่างจากข้ออื่น เพราะจะอาศัยเกาะกิ่งไม้หรือต้นไม้ แต่สามารถสร้างอาหารเองได้โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่จะเป็นอันตรายแก่ต้นไม้ที่เกาะ คือ ทำให้กิ่งไม้นั้นขาดน้ำและตายไปในที่สุด
*********************************************************
4. การย่อยอาหารของโพรโทซัว ( protozoa ) เกิดขึ้นที่ใด
        1. ในนิวเคลียส โดยใช้เอนไซม์ที่มีอยู่ในไซโทพลาซึม
        2. ในฟูดแวคิวโอล โดยใช้เอนไซม์ที่มีอยู่ในไลโซโซม
        3. ในไซโทพลาซึม โดยใช้เอนไซม์ที่มีอยู่ในไลโซโซม
        4. ปล่อยเอนไซม์ออกไปย่อยสารอินทรีย์แล้วดูดซึมสารอาหารเข้าสู่เซลล์
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
พวกโพรโทซัว ( protozoa ) มีการย่อยอาหารภายในฟูดแวคิวโอล ( food vacuole ) ของเซลล์ โดยมีเอนไซม์ในไลโซโซมทำหน้าที่ย่อยสลายให้เป็นสารที่มีขนาดเล็กลง แล้วลำเลียงผ่านเยื่อฟูดแวคิวโอล เข้าไปในไซโทพลาซึม เพื่อนำไปใช้ต่อไป ส่วนกากอาหารที่เหลือ จะถูกส่งออกไปภายนอกเซลล์
*********************************************************
5. ร่องปาก ( oral groove ) จะพบในสัตว์ชนิดใด
        1. อะมีบา
        2. ยูกลีนา
        3. พารามีเซียม
        4. ไฮดรา
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
ร่องปาก ( oral groove ) ซึ่งอยู่บริเวณด้านท้อง มีลักษณะเป็นร่องและมีซิเลีย ( cilia ) โบกพัดอาหารเข้าสู่เซลล์ อาหารจะเข้าไปในปาก ( cytosome ) เมื่ออาหารเข้าปากแล้วจะผ่านลำคอ ( cytopharynx ) เมื่อเข้าสู่เอนโดพลาซึมและสร้างเป็นช่องอาหาร ( food vacuole ) จากนั้นอาหารจะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่ไซโทพลาซึมเพื่อนำไปใช้ ส่วนกากอาหารจะถูกขับออกทางผนังเซลล์ เรียกว่า cytopyge
*********************************************************
6. การย่อยอาหารของแบคทีเรียและเชื้อราส่วนใหญ่มีวิธีการอย่างไร
        1. สร้างฟูดแวคิวโอล
        2. ขับเอนไซม์ออกไปย่อยสลายอาหารภายนอกเซลล์
        3. ใช้ซิเลียพัดอาหารเข้าสู่เซลล์
        4. เปลี่ยนผนังเซลล์เป็นขาเทียม ( pseudopodium )
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
แบคทีเรียและเชื้อราส่วนใหญ่จะสร้างอาหารเองไม่ได้ ต้องอาศัยสารอาหารจากภายนอก แต่จะมีวิธีการปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสลายสารอินทรีย์ซึ่งเป็นอาหารที่อยู่ภายนอกเซลล์ให้มีขนาดเล็ก จนสามารถดูดซึมผ่านเข้าไปภายในเซลล์ได้
*********************************************************
7. อุตสาหกรรมในข้อใดที่ได้ประโยชน์จากการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์พวกแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิด
        1. การหมักน้ำปลา
        2. การทำเต้าเจี้ยว
        3. การทำนมเปรี้ยวโยเกิร์ต
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
อุตสาหกรรมดังกล่าวทุกชนิดมีการหมักโดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียและรา ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้ได้คุณภาพอาหารหลากหลายมากขึ้น
*********************************************************
8. ในการศึกษาการกินอาหารของพารามีเซียม จะหยดสารละลายเมทิลเซลลูโลส ( methyl cellulose ) ความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซนต์ 1 หยด เพื่อจุดประสงค์ใด
        1. เป็นการย้อมสียีสต์ให้เห็นชัดเจน
        2. ทำให้พารามีเซียมเคลื่อนที่ช้าลง
        3. เป็นสารอาหารของยีสต์ในขณะทดลอง
        4. ช่วยให้เห็นการเคลื่อนไหวของซิเลียชัดเจนขึ้น
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
การใช้สารเมทิลเซลลูโลส ( methyl cellulose ) ในการทดลอง ช่วยให้พารามีเซียมเคลื่อนที่ได้ช้าลง เพื่อความสะดวกในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพารามีเซียมและยีสต์
*********************************************************
9. ยีสต์เมื่อเข้าสู่ฟูดแวคิวโอลของพารามีเซียมมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร
        1. ไม่เปลี่ยนแปลง
        2. เปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง
        3. เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีม่วง
        4. เซลล์ยังคงรูปสีน้ำเงินเข้ม
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
ก่อนทำการทดลองได้มีการย้อมสีของยีสต์ก่อนด้วยสีคองโกเรด ( congo red ) ทำให้ยีสต์มีสีแดง เมื่อถูกนำเข้าไปอยู่ในแวคิวโอลของพารามีเซียม จะมีเอนไซม์ทำให้เกิดการย่อย สีของยีสต์จากเดิมสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินได้ และถ้าทิ้งไว้นานช่วงระยะเวลาหนึ่งจะสังเกตว่าเซลล์ของยีสต์จะแตก
*********************************************************
10. น้ำตาลอินเวอร์ตประกอบด้วยอะไร
        1. กลูโคสและกลูโคส
        2. กลูโคสและฟรักโทส
        3. กลูโคสและกาแล็กโทส
        4. กลูโคสและซูโครส
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
น้ำตาลอินเวอร์ตเกิดจากการผลิตที่ใช้เอนไซม์ของยีสต์ คือ อินเวอร์เทส มาเปลี่ยนน้ำตาลอ้อยหรือผักกาดหวาน จะได้น้ำตาลอินเวอร์ตประกอบด้วยฟรักโทสและกลูโคส
*********************************************************
11. ฟูดแวคิวโอลเมื่ออยู่ในเซลล์ของพารามีเซียมจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร
        1. เปลี่ยนแปลงโดยเคลื่อนที่วนไปกับการเคลื่อนที่ของเอนโดพลาซึม
        2. ถูกน้ำย่อยจากไลโซโซมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในฟูดแวคิวโอล
        3. ขนาดของฟูดแวคิวโอลจะเล็กลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะสารอาหารที่ผ่านการย่อยแล้วจะแพร่ออกมาสู่ไซโทพลาซึม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์
        4. การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากฟูดแวคิวโอลเข้าไปในเซลล์แล้ว
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อฟูดแวคิวโอลอยู่ภายในเซลล์ของพารามีเซียม คือ
- ไลโซโซมปล่อยเอนไซม์มาย่อยสารอินทรีย์ให้มีขนาดเล็กลง
- เอนโดพลาซึมเคลื่อนที่ไปทำให้ฟูดแวคิวโอลเคลื่อนที่ไปโดยรอบก่อนจะถูกขับออกทางผนังเซลล์
- ขนาของฟูดแวคิวโอลจะเล็กลงเมื่อเคลื่อนที่ไป เพราะสารอินทรีย์ที่ถูกย่อยแล้วจะแพร่ออกมาเมื่อเซลล์นำไปใช้ประโยชน์
*********************************************************
12. ส่วนใดของฟองน้ำที่ทำหน้าที่โบกพัดทำให้กระแสน้ำผ่านเข้าทางช่องน้ำเข้า ( ostium )
        1. collar cell
        2. flagellum
        3. amoebocyte
        4. choanocyte
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
ฟองน้ำเป็นสัตว์หลายเซลล์ ซึ่งจะเกาะติดอยู่กับที่ ได้รับอาหารโดยการกรองจากน้ำที่ผ่านเข้าไปในลำตัวของมัน โดยคอลลาร์เซลล์ ( collar cell ) ซึ่งมีแส้ ( flagellum ) สำหรับโบกพัดน้ำ
*********************************************************
13. การอาหารของฟองน้ำจะถูกกำจัดโดยวิธีใด
        1. ถูกขับออกทางรูด้านข้างลำตัว
        2. ถูกขับออกทางเดียวกับทางน้ำเข้า
        3. ถูกขับออกจากเซลล์สู่ช่องกลางลำตัวและขับออกทางช่องน้ำออก
        4. สามารถขับออกได้ทุกวิธีแล้วแต่โอกาส
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
เมื่ออาหารในฟูดแวคิวโอลทั้งในโคแอโนไซต์และอะมีโบไซต์ถูกย่อยแล้ว จะถูกขับออกนอกเซลล์เข้าสู่ช่องกลางลำตัว ( spongocoel ) แล้วออกทางน้ำออก ( osculum )
*********************************************************
14. อาหารของไฮดราและฟองน้ำ มีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
1. อาหารของไฮดรามีขนาดเล็กเหมือนของฟองน้ำ
2. อาหารของไฮดรามีขนาดใหญ่กว่ามาก เพราะมีการย่อยที่สมบูรณ์
3. อาหารของฟองน้ำมีขนาดเล็กมาก ส่วนอาหารของไฮดรามีขนาดใหญ่
4. ไม่แน่นอน เพราะอาจมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ได้ ทั้งฟองน้ำและไฮดราก็สามารถย่อยสลายได้
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
อาหารของฟองน้ำจะมีขนาดเล็กมาก เพราะเป็นแบคทีเรียหรืออินทรียสารที่มีขนาดเล็กเพียงประมาณ 1 ไมโครเมตรเท่านั้น ส่วนอาหารของไฮดราจะเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ หรือแพลงก์ตอน
*********************************************************
15. ไฮดรามีการย่อยอาหารที่ส่วนใด
        1. ปากที่มีหนวดล้อมรอบ
        2. ช่องแกสโทรวาสคิวลาร์
        3. เซลล์ที่ปลายหนวด
        4. คอหอย
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
ไฮดราเป็นสัตว์ที่มีการย่อยอาหารได้ 2 วิธี คือ อาหารถูกย่อยโดยน้ำย่อยในช่องแกสโทรวาสคิวลาร์และอาหารชิ้นเล็กๆ จะถูกเซลล์นำเข้าไปภายในเซลล์โดยวิธีฟาโกไซโทซิส จากนั้นจะสร้างฟูดแวคิวโอลและถูกย่อยภายในเซลล์ดังกล่าว ซึ่งถือว่ามีการย่อยอาหารทั้งภายนอกเซลล์และภายในเซลล์
*********************************************************
16. ข้อใดที่กล่าวถึงหนวด ( tentacles ) ของไฮดราไม่ถูกต้อง
        1. มีขนาดใหญ่และยาวเมื่อเทียบกับตัวไฮดรา
        2. ไฮดราใช้หนวดในการช่วยจับเหยื่อซึ่งเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก
        3. มีเซลล์ที่สร้างเอนไซม์ในการย่อยอาหารอยู่ที่ปลายหนวด
        4. ที่หนวดของไฮดราจะมีเข็มพิษ ( nematocyst ) แทงเหยื่อให้สลบหรือตายก่อนจับใส่ในปาก
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
หนวดของไฮดราไม่มีเซลล์ในการสร้างน้ำย่อย แต่จะมีหน้าที่ในการจับอาหารโดยใช้เข็มพิษ ( nematocyst ) ทำให้เหยื่อตายหรือสลบก่อนที่จะนำเข้าไปในปาก
เซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำย่อยจะอยุ่ในช่องลำตัวทำหน้าที่ผลิตและปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร
*********************************************************
17. ในการศึกษาทางเดินอาหารของพลานาเรียควรเลือกใช้อาหารในข้อใด
        1. ไข่แดงต้มสุก
        2. ตับไก่ย้อมสีนิวตรอนเรด 0-5 กรัม
        3. แป้งมันที่สุกเป็นก้อน
        4. เนื้อไก่บด
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
การเลือกใช้ตับไก่บด เพราะเป็นอาหารสดและมีสีแดงอยู่แล้ว เมื่อนำมาย้อมสีนิวตรอลเรด 0.5 กรัม จะทำให้มีสีเข้มเห็นชัดเจน เมื่อพลานาเรียกินเข้าไปจะสังเกตลักษณะของทางเดินอาหารได้ง่าย โดยใช้แว่นขยายหรือกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายต่ำ
*********************************************************
18. ทางเดินอาหารของพลานาเรียแตกต่างกับทางเดินอาหารของไฮดราอย่างไร
        1. เป็นทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์
        2. ทั้งพลานาเรียและไฮดรามีทางเดินอาหารแบบช่องเปิดทางเดียว
        3. ทางเดินอาหารของพลานาเรียมีแขนงออกไปตลอดลำตัว แต่ไฮดราจะมีช่องว่างกลางลำตัว
        4. ทางเดินอาหารของไฮดราเป็นแบบสมบูรณ์ แต่พลานาเรียเป็นแบบไม่สมบูรณ์
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
ความแตกต่างของทางเดินอาหารของพลานาเรียกับไฮดราคือ ทางเดินอาหารของพลานาเรียจะแตกแขนงแยกออกไปตลอดสองข้างของลำตัว แต่ไฮดรามีช่องกลวงกลางลำตัวเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการย่อยได้
*********************************************************
19. พลานาเรียเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมในการกินอาหารโดยวิธียื่นงวงออกมาดูดอาหาร ส่วนที่เรียกว่างวงคือส่วนของทางเดินอาหารชนิดใด
        1. ปาก
        2. คอหอย
        3. หลอดอาหาร
        4. รยางค์ที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนที่
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
พลานาเรียมีช่องปากอยู่ตรงด้านท้องกลางลำตัว ซึ่งจะมีคอหอย ( pharynx ) สามารถยื่นออกมามีลักษณะเหมือนงวง ทำหน้าที่จับอาหารเข้าทางช่องเปิดของคอหอย จากนั้นคอหอยจะหดกลับเข้าปาก ทำให้อาหารเข้าสู่ทางเดินอาหาร ( intestine ) เพื่อย่อยต่อไป
ปากและคอหอยเป็นอวัยวะที่ช่วยทำให้เหยื่อสลายเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนกลืนเข้าสู่ลำไส้
*********************************************************
20. คำกล่าวข้อใดไม่ถูกต้อง
        1. พยาธิใบไม้เป็นหนอนตัวแบนชนิดหนึ่ง
        2. ทางเดินอาหารของพยาธิใบไม้คล้ายกับพลานาเรีย แต่ไม่มีแขนงมาก
        3. พยาธิตัวตืดไม่มีทางเดินอาหาร แต่จะอาศัยอาหารที่ย่อยแล้วของผู้ถูกอาศัย
        4. พยาธิใบไม้มีอวัยวะดูดเกาะอยู่หลายอันเรียกว่า สโคเลกซ์ ( scolex )
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
อวัยวะดูดเกาะของพยาธิใบไม้ เรียกว่า sucker ส่วนพยาธิตัวตืดจะมีอวัยวะดูดเกาะมากกว่า 1 อัน คือมีหลายๆ อันเรียกว่า scolex
*********************************************************
21. พยาธิตัวตืดเป็นหนอนตัวแบนชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีทางเดินอาหาร แต่จะได้รับอาหารโดยวิธีใด
        1. ใช้อวัยวะดูดเกาะเลือดจากผู้ถูกอาศัยโดยตรง
        2. ดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วจากทางเดินอาหารของผู้ถูกอาศัย
        3. ปล่อยของเหลวออกมาทางผิวหนัง เพื่อย่อยอาหารในทางเดินอาหารของผู้ถูกอาศัย
        4. มีแบคทีเรียในทางเดินอาหารย่อยสลายอาหารแทน
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
พยาธิตัวตืดจะได้รับอาหารจากผู้ถูกอาศัย ซึ่งเป็นอาหารที่ถูกย่อยแล้ว มีขนาดเล็ก จึงแพร่ผ่านผนังเซลล์ของพยาธิโดยตรง ดังนั้นจึงไม่มีทางเดินอาหาร เพราะอาหารที่มีขนาดเล็กนั้นเซลล์สามารถนำไปใช้ได้ทันที
*********************************************************
22. เมื่อเปรียบเทียบทางเดินอาหารของไส้เดือนดิน พลานาเรีย แมลง และไฮดรา จะมีระบบทางเดินอาหารแตกต่างกันอย่างไร
        1. ไส้เดือนดินและแมลงมีทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์
        2. แมลงมีปากในการกัดเคี้ยวเป็นการช่วยย่อยเชิงกล
        3. ไฮดรามีทางเดินอาหารโดยมีช่องเปิดทางเดียว ทำหน้าที่ในการกินและการขับถ่าย
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างทางเดินอาหารของไส้เดือนดิน แมลง พลานาเรีย และไฮดรา จะพบว่าไส้เดือนดินและแมลงจัดเป็นระบบทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ เพราะจะมีปากเป็นทางเข้าของอาหาร และมีทวารหนักเป็นทางขับกากอาหาร ส่วนไฮดราและพลานาเรียจะมีช่องเปิดให้อาหารเข้า และเมื่อย่อยอาหารแล้วจะถูกขับออกมาในช่องเดิม ซึ่งถือว่าเป็นทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์
*********************************************************
23. ในการศึกษาทางเดินอาหารของปลากินพืชและปลากินสัตว์แตกต่างกันอย่างไร
        1. ปลากินพืชจะมีทางเดินอาหารยาว ผนังทางเดินอาหารบาง
        2. ปลากินพืชจะมีทางเดินอาหารสั้น ผนังทางเดินอาหารหนาและแข็งแรงมาก
        3. ปลากินสัตว์และปลากินพืชจะมีผนังทางเดินอาหารเหมือนกัน
        4. ปลากินสัตว์จะมีทางเดินอาหารสั้น ผนังทางเดินอาหารบาง
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
ทางเดินอาหารของปลากินพืชยะยาวกว่าทางเดินอาหารของปลากินสัตว์ แต่ผนังทางเดินอาหารของปลากินพืชจะไม่แข็งแรงเท่ากับผนังทางเดินอาหารของปลากินสัตว์ ตัวอย่างปลากินพืช เช่น ปลาแรด ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสร้อย เป็นต้น และปลากินสัตว์ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลากด ปลาสวาย เป็นต้น
*********************************************************
24. ทางเดินอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ส่วนที่เป็นกระเพาะจริงคือข้อใด
        1. reticulum
        2. rumen
        3. omasum
        4. abomasum
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
abomasum เป็นกระเพาะส่วนที่มีการสร้างเอนไซม์ในการช่วยย่อย ทำให้เกิดการย่อยทางเคมี ซึ่งได้สารอาหารที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
*********************************************************
25. กระเพาะอาหารของวัวแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนใดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
        1. rumen
        2. reticulum
        3. omasum
        4. abomasum
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
กระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ วัวและควาย จะกินอาหารครั้งละมากๆ การมีกระเพาะขนาดใหญ่และหลายกระเพาะ ทำให้รับปริมาณอาหารที่กินในแต่ละครั้งได้มาก กระเพาะอาหารส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ รูเมน ( rumen ) ซึ่งจะรับอาหารต่อมาจากกระเพาะอาหารส่วนเรติคิวลัม ( reticulum )
*********************************************************
26. rumen เป็นส่วนของกระเพาะอาหารที่เรียกโดยทั่วไปว่าอะไร
        1. กระเพาะรังผึ้ง
        2. ผ้าขี้ริ้ว
        3. กระเพาะสามสิบกลีบ
        4. กระเพาะจริง
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
ลักษณะของกระเพาะมีลักษณะแตกต่างกันในส่วนของ rumen มักเรียกว่า ผ้าขี้ริ้ว ซึ่งจะมีเยื่อแผ่นบางๆ มากมาย
*********************************************************
27. สัตว์เคี้ยวเอื้องจะมีกระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งมีผลดีอย่างไร
        1. ช่วยเก็บสำรองอาหารเพื่อสำรอกออกมาเคี้ยวใหม่
        2. อาหารเมื่อถูกกลืนเข้าไปอีกครั้งจะมีจุลินทรีย์ช่วยให้เกิดการย่อยเป็นไขมัน
        3. ทำให้เซลลูโลสถูกเปลี่ยนเป็นกรดไขมันได้หลังจากการหมักอยู่ในกระเพาะอาหาร
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
การที่สัตว์เคี้ยวเอื้องมีกระเพาะ 4 ส่วน มีข้อดีตามเหตุผลในข้อ 1 , 2 และ 3 ทั้งนี้เมื่อสัตว์ได้รับสารอาหารในปริมาณมากพอและกระบวนการย่อยสลายต้องใช้เวลานานจึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ การมีเนื้อที่ในการเก็บมากจะทำให้สัตว์กินอาหารได้ครั้งละมากๆ และได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนพอกับความต้องการพลังงานจากสารอาหารนั้นๆ
*********************************************************
28. แหล่งที่จุลินทรีย์สังเคราะห์กรดอะมิโนให้กับสัตว์เคี้ยงเอื้องคือข้อใด
        1. เซลลูโลสจากเส้นใยพืช
        2. คาร์โบไฮเดรตจากพืช
        3. ไขมันพืชที่สัตว์ได้รับ
        4. ยูเรียที่ได้จากการหมัก
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
สัตว์เคี้ยวเอื้องจะกินอาหารพวกพืชเท่านั้น ดังนั้นสารอาหารพวกโปรตีนหรือกรดอะมิโนจึงได้จากการสังเคราะห์ภายในกระเพาะอาหาร โดยจุลินทรีย์จะสังเคราะห์กรดอะมิโนจากยูเรียและแอมโมเนียจากการหมักนั่นเอง
*********************************************************
29. สัตว์กินพืชจำเป็นต้องกินอาหารในปริมาณที่มากกว่าสัตว์กินเนื้อ เพราะเหตุใด
        1. พืชมีกากอาหารมาก ใช้เวลาย่อยนาน มีสารอาหารน้อย
        2. พืชมีกากอาหารน้อยจึงต้องรับประทานมาก
        3. พืชมีสารอาหารครบถ้วน แต่ไม่สามารถย่อยสลายได้
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
สัตว์กินพืชต้องกินอาหารปริมาณมาก เพราะพืชมีเส้นใยมากทำให้การย่อยต้องใช้เวลานานจึงต้องกินต่อเนื่องไว้ครั้งละมากๆ ประกอบกับปริมาณสารอาหารที่ได้รับมีพลังงานน้อย ส่วนสัตว์กินเนื้อจะมีกากอาหารน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารเท่าๆ กัน จึงไม่จำเป็นต้องกินอาหารมากก็ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
*********************************************************
30. กระเพาะโอมาซัม ( omasum ) มีหน้าที่อะไร
        1. เป็นทางผ่านของอาหารเท่านั้น
        2. รับอาหารจากเรติคิวลัมมาบดผสมรวมกันพร้อมกับบีบคั้นน้ำออก
        3. รับอาหารจากเรติคิวลัม ทำให้เกิดการหมักโดยจุลินทรีย์
        4. เกิดการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์เปลี่ยนเซลลูโลสให้เป็นไขมัน
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
กระเพาะโอมาซัม ( omasum) จะรับอาหารที่ผ่านการหมักแล้วจากเรติคิวลัม ( reticulum ) เมื่อเอามาบดผสมรวมกัน แล้วบีบคั้นน้ำออกเพื่อให้อาหารแห้งและเป็นก้อน จากนั้นจะส่งเข้าสู่กระเพาะอะโบมาซัม ( abomasum ) หรือกระเพาะจริง เพื่อย่อยตามปกติโดยเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อย
*********************************************************
31. ข้อใดที่ทำให้เกิดการย่อยเชิงกล ( mechanical digestion ) มากที่สุด
        1. ฟันตัด
        2. ฟันฉีก
        3. กรามหน้า
        4. กรามหลัง
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
ฟันกรามหลังทำหน้าที่บดอาหารให้ละเอียด และทำให้เกิดการแตกของชิ้นอาหารได้มากกว่าฟันส่วนอื่นๆ ทั้งสิ้น การใช้แรงบดถือเป็นการย่อยเชิงกลนั่นเอง
*********************************************************
32. ข้อใดไม่ใช่ทางเดินอาหารของคน
        1. ปาก
        2. หลอดอาหาร
        3. ลำไส้
        4. ตับ
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
ทางเดินอาหาร หมายถึงเป็นทางที่อาหารผ่านเข้าไป เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าทางปากจะผ่านคอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก
ตับเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหารแต่ไม่ใช่ทางเดินอาหาร
*********************************************************
33. ทางเดินอาหารของคนส่วนใดมีขนาดใหญ่ที่สุด
        1. คอหอย ( pharynx )
        2. กระเพาะอาหาร ( stomach )
        3. ลำไส้ใหญ่ ( colon )
        4. ตับอ่อน ( pancreas )
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
กระเพาะอาหาร ( stomach ) จัดเป็นทางเดินอาหารส่วนที่ใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ เพราะมีลักษณะเป็นกระเปาะพองออกมากกว่าทางเดินอาหารส่วนอื่นๆ ภายในมีความจุได้ถึง 1,000 - 1,200 ลูกบาศก์เซนติเมตร
*********************************************************
34. อวัยวะส่วนใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการย่อยอาหาร
        1. ทวารหนัก ( anus )
        2. ต่อมน้ำลาย ( salivary gland )
        3. ตับ ( liver )
        4. ถุงน้ำดี ( gall bladder )
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
ทวารหนักเป็นส่วนปลายสุดของทางเดินอาหาร ซึ่งจะไม่มีกระบวนการย่อยอีกแล้ว เพราะการย่อยอาหารทางเคมีจะเกิดมากที่สุดในส่วนของลำไส้เล็กและการดูดซึมอาหารก็เช่นกัน ส่วนลำไส้ใหญ่จะมีเพียงการดูดกลับน้ำเท่านั้น
*********************************************************
35. ข้อใดที่กล่าวถึงหน้าที่ของลิ้น ( tongue ) ไม่ถูกต้อง
        1. รับรสอาหารและช่วยในการออกเสียง
        2. คลุกเคล้าอาหารขณะเคี้ยว
        3. ช่วยดันอาหารลงมายังคอหอย
        4. ผลิตน้ำย่อยผสมเข้าไปในอาหาร
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
ลิ้นเป็นอวัยวะที่ไม่มีการผลิตน้ำย่อยใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนหน้าที่ของลิ้นคือเหตุผลในข้อ 1 , 2 และ 3 ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่าเจ็บลิ้น จะทำให้การับประทานอาหารไม่รู้สึกอร่อยเท่าที่ควร
*********************************************************
36. ฟันแท้ของคนมีทั้งหมดกี่ซี่ และจะขึ้นครบเมื่ออายุประมาณกี่ปี ตามลำดับ
        1. 32 ซี่ , อายุ 10 ปี
        2. 30 ซี่ , อายุ 6 ปี
        3. 32 ซี่ , อายุ 13 ปี
        4. 30 ซี่ , อายุ 15 ปี
ตอบ ข้อ 3.
เหตุผล
ฟันแท้จะเริ่มขึ้นแทนเรื่อยๆ เมื่อฟันน้ำนมหลุด และจะครบเมื่ออายุ 13 ปี โดยจะประกอบเป็นชุดขากรรไกรบน 16 ซี่ และขากรรไกรล่าง 16 ซี่ แต่ฟันกรามของบางคนอาจจะขึ้นไม่ครบจำนวนก็ได้
*********************************************************
37. enamel คือส่วนของฟันในข้อใด และมีสมบัติอย่างไร
        1. เป็นสารเคลือบฟันให้แข็งแรงและป้องกันฟันผุ
        2. เป็นเนื้อฟัน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หนามาก
        3. เป็นโพรานิน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อ่อนนุ่ม มีเส้นเลือดและเส้นประสาท
        4. เป็นรากฟันประกอบด้วยเนื้อฟันและเยื่อหุ้มบางๆ ช่วยในการยึดฟัน
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
สารเคลือบฟัน ( enamel ) เป็นสารสีขาวเนื้อแน่น มีความแข็งแรงทนทาน สารนี้ทำหน้าที่ป้องกันตัวฟันเมื่อบดเคี้ยวอาหารและป้องกันฟันผุ
*********************************************************
38. ซีเมนตัม ( cementum ) มีประโยชน์อย่างไร
        1. เคลือบฟันเพื่อป้องกันตัวฟัน
        2. ช่วยยึดรากฟันให้แข็งแรง
        3. เป็นส่วนที่ฝังอยู่ในช่องกระดูกขากรรไกร
        4. ส่วนของฟันที่ฝังอยู่ในเหงือกถัดจากตัวฟัน
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
ซีเมนตัม ( cementum ) หมายถึงสารที่เคลือบรากฟันบางๆ ทำให้รากฟันยึดติดแน่นกับเหงือกและขากรรไกรที่รากฟันฝังอยู่
*********************************************************
39. ผลกระทบต่อร่างกายจากการเกิดฟันผุคือข้อใด
        1. ทำให้บดเคี้ยวอาหารไม่ได้ มีผลต่อการย่อยอาหาร
        2. เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้
        3. มีผลกระทบต่อสมองหรือระบบประสาทความรู้สึกได้
        4. ผลกระทบเกิดขึ้นได้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับอาหารว่ารุนแรงอย่างไร
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
การเกิดฟันผุนั้นมีอาการมากน้อยแตกต่างกัน ถ้ารีบไปพบแพทย์รักษาเร็วจะมีผลเสียน้อยหรือไม่มีอีกต่อไป แต่ถ้าไม่รักษาปล่อยให้เกิดอาการฟันผุเรื้อรังอาจเกิดอาการคือ ระบบการเคี้ยวอาหารบกพร่อง การย่อยชิ้นอาหารทำได้น้อย จะทำให้อาหารมีขนาดชิ้นใหญ่ เมื่อถูกกลืนลงไปในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดการย่อยเชิงกลที่สำคัญ ก็จะต้องบีบตัวแรงขึ้นหรือทำงานหนักมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้อีก
ฟันผุที่มีอาการรุนแรงจนถึงโพรงฟันจะมีระบบเลือดและเซลล์ประสาท ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดหรือทำลายระบบประสาทสมองได้เช่นกัน
*********************************************************
40. คำกล่าวที่ว่า "ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน" มีเหตุผลอย่างไร
        1. ทำให้เกิดการย่อยช้าลง
        2. ทำให้พื้นที่ผิวของอาหารสัมผัสกับเอนไซม์มีน้อย
        3. ทำให้กลืนอาหารได้สะดวกและเกิดการย่อยดีขึ้น
        4. ทำให้รับประทานอาหารได้ปริมาณมากขึ้น
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เป็นการทำให้ขนาดชิ้นของอาหารเล็กลงสะดวกในการกลืนลงสู่ทางเดินอาหาร และไม่ส่งผลต่อความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในทางเดินอาหาร ทำให้พื้นที่ผิวของอาหารเพิ่มมากขึ้น เมื่อเข้ารวมกับเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารจะเกิดประสิทธิภาพของการย่อยทางเคมีได้ดีขึ้น ทำให้สามารถได้รับสารอาหารจากอาหารที่รับประทานและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้นด้วย
*********************************************************
41. ข้อใดไม่ใช่สมบัติของน้ำลาย
        1. มีน้ำประกอบอยู่ร้อยละ 99.5
        2. มีค่า pH ระหว่าง 6.2 - 7.4
        3. มีเอนไซม์ไทยาลินช่วยย่อยแป้ง
        4. ไม่มีส่วนประกอบของแคลเซียมปนอยู่
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
สมบัติของน้ำลายคือ มีน้ำเป็นองค์ประกอบ 99.5 เปอร์เซ็นต์ มีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.2 - 7.4 คือ เป็นกรดอ่อน กลาง และเบสอ่อน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มีเอนไซม์ไทยาลินช่วยย่อยแป้งให้มีขนาดเล็กลง มีสารประกอบที่เป็นเมือกช่วยในการหล่อลื่นอาหารในขณะที่กลืน นอกจากนี้ยังมีปริมาณแคลเซียมสูงมากในน้ำลาย ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้แคลเซียมที่สารเคลือบฟันละลายออกมา ดังนั้นเหตุผลในข้อ 4 จึงกล่าวถึงคุณสมบัติของน้ำลายไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
*********************************************************
42. น้ำลายจะถูกผลิตและหลั่งออกมาวันละประมาณเท่าไร
        1. 500 - 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร
        2. 1,000 - 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร
        3. 1,500 - 2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร
        4. มากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
น้ำลายคนเราจะถูกผลิตออกมาวันละ 1 - 1.5 ลิตร หรือ 1,000 -  1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยจะถูกผสมกลืนไปกับอาหารที่บริโภคในแต่ละมื้อ
*********************************************************
43. pyloric sphincter muscle หมายถึงข้อใด
        1. กล้ามเนื้อที่กระเพาะอาหาร
        2. กล้ามเนื้อที่หลอดอาหาร
        3. กล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารต่อกับหลอดอาหาร
        4. กล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารต่อกับลำไส้เล็ก
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารมีหน้าที่ คือ ป้องกันไม่ให้อาหารเคลื่อนไปในขณะที่กระเพาะอาหารมีการย่อยเชิงกล โดยการทำงานของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารมี 2 ส่วน คือ
1. กล้ามเนื้อหูรูดที่ต่อกับหลอดอาหาร ( esophageal sphincter muscle ) ป้องกันไม่ให้อาหารไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร แต่จะคลายตัวเมื่อมีอาหารเคลื่อนมาตามหลอดอาหารลงสู่กระเพาะ
2. กล้ามเนื้อหูรูดที่ต่อกับลำไส้เล็ก ( pyloric sphincter muscle ) ป้องกันไม่ให้อาหารเคลื่อนลงไปในลำไส้เล็กก่อนที่กระเพาะอาหารจะทำการย่อย และจะเปิดให้อาหารเคลื่อนลงไปในลำไส้เล็กเมื่อกระเพาะย่อยอาหารแล้ว เพื่อไปย่อยต่อที่ลำไส้เล็กต่อไป
*********************************************************
44. การรับประทานอาหารที่แห้ง แข็ง และชิ้นใหญ่เกินไป เวลากลืนจะรู้สึกแน่นหน้าอกเป็นเพราะหตุใด
        1. หลอดอาหารบีบตัวยากและเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร
        2. หลอดอาหารขยายตัวมาก ทำให้หลอดลมมีเนื้อที่น้อย
        3. ก้อนอาหารที่โตเคลื่อนที่ลงไปในหลอดอาหารได้สะดวก จึงเคลื่อนที่เร็วกว่าปกติ
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
หลอดอาหารเป็นกล้ามเนื้อทางเดินอาหารที่ต่อจากปากถึงกระเพาะอาหารซึ่งมีขนาดเล็ก ดังนั้น ถ้ากินอาหารที่มีลักษณะแห้ง แข็ง และชิ้นใหญ่ อาหารจะเคลื่อนตัวลงไปตามหลอดอาหารลำบาก ทำให้หลอดอาหารบีบตัวยาก ( การบีบตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหารทำให้อาหารเคลื่อนที่ไปตามหลอดอาหารเรียกว่า เพอริสทัลซิส ( peristalsis )) และทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร ทำให้รู้สึกจุกแน่นที่หน้าอก
*********************************************************
45. ข้อใดที่กล่าวถึงหน้าที่ของกระเพาะอาหาร ( stomach ) ไม่ถูกต้อง
        1. พักอาหาร
        2. ย่อยอาหาร
        3. ลำเลียงอาหารสู่ลำไส้เล็ก
        4. ดูดซึมสารอาหารที่ย่อยแล้วเข้าสู่กระแสเลือด
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
การดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วเกิดที่ลำไส้เล็ก ถึงแม้อาหารบางส่วนอาจย่อยจนอนุภาคเล็กแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่การย่อยจะสมบูรณ์เมื่อเกิดการย่อยในส่วนของลำไส้เล็ก พร้อมทั้งการดูดซึมเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย
*********************************************************
46. ผนังด้านในของกระเพาะอาหารมีลักษณะอย่างไร
        1. เป็นกล้ามเนื้อเรียบ
        2. เป็นกล้ามเนื้อแข็งแรงและมีลักษณะเป็นคลื่น
        3. เป็นรอยหยักไปมาเหมือนในลำไส้เล็ก
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารในกระเพาะจะมีลักษณะเป็นคลื่น ลักษณะเช่นนี้ช่วยให้พื้นที่ผิวของกระเพาะอาหารสัมผัสอาหารได้มากขึ้น ทำให้ปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยอาหารได้มากขึ้น การบีบตัวของกระเพาะอาหารทำให้เกิดการคลุกเคล้าของอาหารกับเอนไซม์ดีขึ้นอีกด้วย
*********************************************************
47. ข้อใดไม่ใช่ส่วนประกอบที่ผนังกระเพาะอาหาร
        1. ต่อมสร้างเอนไซม์
        2. ต่อมสร้างน้ำเมือก
        3. ต่อมสร้างกรดเกลือ
        4. การหลั่งเกลือน้ำดี
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
เกลือน้ำดีจะหลั่งมาจากท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กตอนต้น ดังนั้นจึงไม่มีในกระเพาะอาหาร ส่วน ข้อ 1 , 2 และ 3 จะพบในกระเพาะอาหารทั้งสิ้น
*********************************************************
48. เพปซิโนเจน ( pepsinogen ) และโพรเรนนิน ( prorennin ) เป็นเอนไซม์ที่ยังไม่พร้อมจะทำหน้าที่ในการย่อย แต่จะทำหน้าที่ย่อยได้เมื่อมีสารชนิดใดมาช่วยเปลี่ยนสภาพให้พร้อมจะย่อยได้
        1. น้ำเมือกจากผนังกระเพาะอาหาร
        2. กรดเกลือจากผนังกระเพาะอาหาร
        3. ฮอร์โมนแกสทริน ( gastrin )
        4. เกลือน้ำดีจากถุงน้ำดี
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
กรดเกลือ ( HCL ) จะถูกสร้างจากผนังกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยเปลี่ยนโพรเพปซินเป็นเพปซิน และ โพรเรนนินเป็นเรนนิน ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างจากต่อมแกสทริก ( gastric gland ) ภายในกระเพาะอาหาร แต่เป็นเอนไซม์ที่ยังไม่พร้อมจะย่อย ต้องมีกรดเกลือ ( HCL ) มาเปลี่ยนสภาพจึงทำหน้าที่ย่อยได้
*********************************************************
49. น้ำเมือก ( mucus ) ถูกสร้างภายในกระเพาะอาหารมีสมบัติเป็นอะไร และมีประโยชน์อย่างไร
        1. เป็นเบส มีประโยชน์ต่อการทำงานของเพปซิน
        2. เป็นกรด มีประโยชน์ต่อการทำงานของเพปซินและเรนนิน
        3. เป็นเบส ช่วยป้องกันอันตรายจากกรดต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร
        4. เป็นกรด ทำให้เอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายหมดสภาพ
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
น้ำเมือก ( mucus ) มีสมบัติเป็นเบส จึงเคลือบผิวด้านในของกระเพาะอาหารทำให้กรดเกลือและเพปซินไม่สามารถย่อยเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ การที่คนเรารับประทานอาหารไม่ตรงเวลาจะส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะอาหารเป็นอันตรายได้ เนื่องจากการสร้างน้ำเมือกมีความจำกัด ถ้ามีอาหารการย่อยจะเป็นไปตามปกติ แต่ถ้าไม่มีอาหารเอนไซม์จะย่อยเยื่อบุกระเพาะอาหาร และถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
*********************************************************
50. การดูดซึมของลำไส้เล็กเกิดมากที่สุดในส่วนใด
        1. ดูโอดีนัม ( duodenum )
        2. เจจูนัม ( jejunum )
        3. ไอเลียม ( ileum )
        4. ทุกส่วนมีความสามารถในการดูดซึมเท่าๆ กัน
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
เจจูนัม ( jejunum ) เป็นลำไส้เล็กส่วนกลาง มีการดูดซึมของอาหารมากที่สุด เนื่องจากการย่อยทางเคมีจะสมบูรณ์ในส่วนของลำไส้เล็กต่อจากกระเพาะอาหารซึ่งมีการย่อยมาบ้างแล้ว อาหารจะมีลักษณะค่อนข้างเหลวเรียกว่า chyme เมื่อผ่านลำไส้เล็กตอนต้นซึ่งมีความยาวเพียงประมาณ 30 เซนติเมตร การย่อยก็ยังมีการเกิดปฏิกิริยามาก ทำให้การดูดซึมในลำไส้ส่วนกลางมีมากกว่า และมีความยาวของลำไส้มากถึง 2.5 เมตร
*********************************************************
51. เมื่อเราต้องการปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีเนื้อเหนียวมากให้มีเนื้อนุ่มทำได้โดยการหมักด้วยสับปะรด สมบัติในข้อใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
        1. ความเป็นกรดของสับปะรด
        2. เอนไซม์โบรมีเลนในสับปะรด
        3. เอนไซม์ปาเปนในสับปะรด
        4. จุลินทรีย์ย่อยน้ำตาลในน้ำสับปะรด
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
ในสับปะรดจะมีเอนไซม์โบรมีเลน ( bromelain ) ช่วยเปลี่ยนโครงสร้างของเนื้อโดยปฏิกิริยาการย่อยทางเคมี ทำให้เนื้อเปื่อยนุ่มก่อนจะนำไปปรุงอาหาร
*********************************************************
52. ข้อใดที่ไม่ใช่ลักษณะของดูโอดีนัม ( duodenum )
        1. ที่ผนังมีต่อมสร้างน้ำย่อย
        2. เป็นบริเวณที่มีช่องเปิดของน้ำย่อยจากตับอ่อน
        3. เป็นลำไส้เล็กส่วนที่ยาวที่สุด
        4. เป็นส่วนที่รับน้ำดีจากตับเพื่อเข้ารวมกับอาหาร
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
ดูโอดีนัม ( duodenem ) เป็นลำไส้เล็กส่วนต้น มีสมบัติดังข้อ 1 , 2 และ 4 ส่วนเหตุผลในข้อ 3 ผิดเพราะความจริงเป็นลำไส้เล็กส่วนที่สั้นที่สุด
*********************************************************
53. หน้าที่ของตับ ( liver ) คือข้อใด
        1. ช่วยสร้างน้ำดีเพื่อช่วยย่อยไขมัน
        2. เป็นแหล่งสะสมคาร์โบไฮเดรตในรูปของไกลโคเจน
        3. ทำลายเชื้อโรคและสารพิษรวมทั้งเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
ตับเป็นอวัยวะที่มีบทบาทมากและต้องใช้พลังงานมากอีกด้วย
*********************************************************
54. ต่อมไร้ท่อของตับอ่อนจะสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอะไร
        1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
        2. ควบคุมการผลิตเอนไซม์ทริปซิโนเจน
        3. ควบคุมการผลิตเอนไซม์ไคโมทริปซิโนเจน
        4. ถูกต้องทุกข้อ
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
ตับอ่อน ( pancrease ) ทำหน้าที่เป็นทั้งต่อมไร้ท่อและต่อมมีท่อ ส่วนที่เป็นต่อมไร้ท่อจะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดคือ ฮอร์โมนอินซูลิน ส่วนต่อมมีท่อจะทำหน้าที่สร้างเอนไซม์หลายชนิด แต่เป็นเอนไซม์ที่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถทำงานได้ เป็นการป้องกันเซลล์ตับอ่อนไม่ให้ถูกย่อยสลาย
*********************************************************
55. เอนไซม์ในข้อใดที่ถูกสร้างโดยลำไส้เล็ก มีสมบัติช่วยเปลี่ยนเอนไซม์จากตับอ่อนให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำหน้าที่ย่อยได้
        1. โพรคาร์บอกซิเพปทิเดส
        2. เอนเทอโรไคเนส
        3. คาร์บอกซิเพปทิเดส
        4. ไคโมทริปซิน
ตอบข้อ 2.
เหตุผล เอนไซม์เอนเทอโรไคเนส ( enterokinase ) เป็นเอนไซม์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผนังลำไส้เล็ก เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนทริปซิโนเจนเป็นทริปซิน และทริปซินจะเปลี่ยนไคโมทริปซิโนเจนเป็นไคโมทริปซิน เป็นต้น
*********************************************************
56. หน้าที่ของลำไส้ใหญ่ที่สำคัญคืออะไร
        1. ย่อยสลายอาหารที่ยังย่อยไม่หมดจากลำไส้เล็ก
        2. ดูดน้ำ แร่ธาตุ วิตามิน และกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด
        3. แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถสังเคราะห์โปรตีนจากเซลลูโลสได้
        4. มีการสังเคราะห์วิตามินดีโดยเยื่อบุผนังลำไส้
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
หน้าที่ของลำไส้ใหญ่มีหลายประการส่วนใหญ่คือ การดูดกลับน้ำ แร่ธาตุ วิตามิน และกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ยังสามารถสังเคราะห์วิตามินได้ เช่น วิตามินเค วิตามินบี 12 เป็นต้น ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้
*********************************************************
57. วิลลัส ( villus ) ในผนังลำไส้เล็กมีสมบัติในการดูดซึมสารอาหารหลายประการ เหตุผลในข้อใดที่กล่าวถึงวิลลัสไม่ถูกต้อง
        1. มีส่วนของผนังเซลล์ที่ยื่นออกมาทำให้มีผิวสัมผัสมากขึ้น
        2. มีส่วนของเส้นเลือดและเส้นน้ำเหลืองอยู่ภายในวิลลัสแต่ละอัน
        3. ความหนาแน่นของวิลลัสมีประมาณ 200 - 400 อัน ต่อ 1 ตารางมิลลิเมตร
        4. เซลล์บางเซลล์ในวิลลัสทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ได้ด้วย
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
สมบัติของวิลลัส ( villus ) ถูกทุกข้อ ยกเว้นข้อ 3 เท่านั้นที่ไม่ถูกต้อง เพราะความหนาแน่นของวิลลัสจะมีจำนวนประมาณ 20 - 40 อันต่อพื้นที่ 1 ตารางมิลลิเมตร นอกจากนี้ผิวนอกของวิลลัสแต่ละอันยังมีการเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมให้มากขึ้น โดยการยื่นผิวนอกออกไป เรียกว่า ไมโครวิลไล ( microvilli )
*********************************************************
58. การย่อยไขมันซึ่งเป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่ให้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอบเกิดขึ้นที่ส่วนใด
        1. ในกระเพาะอาหาร
        2. ในลำไส้เล็ก
        3. ในปากและกระเพาะอาหาร
        4. ในปาก กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
การย่อยไขมันเกิดเฉพาะในลำไส้เล็กเท่านั้น ถึงแม้ในกระเพาะอาหารจะมีการผลิตน้ำย่อยไลเพส แต่ก็ไม่สามารถย่อยได้ด้วยสภาวะที่ไม่เหมาะสม การย่อยไขมันจะต้องมีเกลือน้ำดีจากท่อน้ำดีเข้ารวมกับไขมัน ทำให้ไขมันแตกตัวเป็นหยดไขมันเล็กๆ และละลายน้ำได้ในรูปอิมัลชัน ( emulsion ) จากนั้นน้ำย่อยไลเพสจากตับอ่อนที่หลั่งเข้าสู่ลำไส้เล็กก็สามารถทำให้เกิดการย่อยไขมัน ได้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้
*********************************************************
59. การบริโภคโปรตีนมากเกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร
        1. ทำให้ร่างกายมีสารอาหารพวกโปรตีนเก็บสะสมในรูปของกรดอะมิโนอย่างพอเพียงตลอดเวลา
        2. ตับจะเปลี่ยนโปรตีนส่วนเกินให้เป็นไขมันแล้วสะสมไว้ในเนื้อเยื่อบางชนิด ซึ่งกระบวนการนี้ตับต้องสลายของเสียที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น
        3. การสลายของเสียจากส่วนเกินจากการบริโภคโปรตีน จะทำให้ไตต้องทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคเกี่ยวกับไต
        4. ทั้งข้อ 2 และ 3 ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการบริโภคโปรตีนมากเกินความต้องการของร่างกาย
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
การรับประทานโปรตีนมากเกินไปจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตับและไตได้ ซึ่งมีผลเสียต่ออวัยวะที่มีบทบาทสำคัญในร่างกายทั้งคู่ ดังนั้นจึงควรบริโภคโปรตีนตามปริมาณที่ร่างกายต้องการเท่านั้น ถึงแม้สารอาหารพวกโปรตีนจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระบวนการทำงานของฮอร์โมน เอนไซม์ และการสร้างอื่นๆ ก็ควรรับประทานอย่าให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งอาจทำให้กระบวนการทำงานขาดความสมบูรณ์ ก่อให้เกิดโรคได้เช่นกัน
*********************************************************
60. ขณะที่เราเคี้ยวข้าวในปากเพียงชั่วครู่ ข้าวจะถูกย่อยสลายเป็นอะไร
        1. เดกซ์ทริน
        2. เรนนิน
        3. อะไมเลส
        4. เพปไทด์
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
การเคี้ยวข้าวในปากเพียงครู่หนึ่งนั้น น้ำลายซึ่งมีเอนไซม์ไทยาลินเป็นอะไมเลสชนิดหนึ่ง จะทำหน้าที่ย่อยแป้ง และเมื่อมีเวลาสั้นๆ แป้งจะถูกย่อยอยู่ในรูปของเดกซ์ทริน ( dextrin ) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กกว่าแป้งแต่ใหญ่กว่าน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจมีบางส่วนจะถูกย่อยจนได้น้ำตาลโมเลกุลคู่ ทำให้เรารู้สึกหวาน
*********************************************************
61.เมื่ออาหารเข้าทางร่องปากของพารามีเซียมแล้วขนาดของ food vacuole จะเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด
        1. มีขนาดเท่าเดิม เพราะเป็นส่วนที่สะสมอาหารของเซลล์
        2. มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมีการรับอาหารจากภายนอกตลอดเวลา
        3. มีขนาดเล็กลง เพราะมีการย่อยอาหารแล้วแพร่ออกสู่ไซโทพลาซึม
        4. มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมีการหลั่งน้ำย่อยเข้าไปช่วยย่อยอาหาร
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
เมื่อ food vacuole อยู่ในเซลล์ ไลโซโซมจะหลั่งเอนไซม์ออกมาย่อยอาหารใน food vacuole ทำให้สารอาหารที่ย่อยแพร่ออกจาก food vacuole เพื่อเข้าสู่ไซโทพลาซึม ดังนั้น ในขณะที่การเคลื่อนที่ของ food vacuole หมุนไปตามเอนโดพลาซึมนั้นจะมีขนาดเล็กลง และถูกกำจัดส่วนที่เหลือออกทางช่องขับถ่าย
*********************************************************
62. nematocyst พบในสัตว์ในข้อใด และมีประโยชน์อย่างไร
        1. อะมีบา - ช่วยนำอาหารเข้าสู่เซลล์
        2. พารามีเซียม - ทำหน้าที่ย่อยอาหาร
        3. ไฮดรา - ทำให้เหยื่อตายก่อนทำการย่อย
        4. แมลง - ทำให้อาหารมีขนาดเล็กลงก่อนกลืน
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
nematocyst มีอยู่ที่หนวดของไฮดรา มีประโยชน์คือ จะมีสารพิษทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาตก่อนจะถูกนำไปย่อย
*********************************************************
63. ทางเดินอาหารของคนข้อใดมีขนาดใหญ่ที่สุด
        1. คอหอย
        2. ปาก
        3. ลำไส้
        4. กระเพาะอาหาร
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
กระเพาะอาหาร ( stomach ) เป็นส่วนของทางเดินอาหารที่มีลักษณะเป็นถุง มีขนาดใหญ่ และยังสามารถขยายตัวได้ตั้งแต่ 10 - 40 เท่า ทำให้มีความจุได้มากถึง 2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร
*********************************************************
64. การย่อยเชิงกลและการย่อยทางเคมีเกิดในส่วนใดมาก ตามลำดับ
        1. ปาก กระเพาะอาหาร
        2. กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก
        3. ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่
        4. ปาก ลำไส้เล็ก
ตอบข้อ 4.
เหตุผล
ปากเป็นทางเดินอาหารส่วนที่มีองค์ประกอบในการย่อยเชิงกลมากคือ ฟัน ทำหน้าที่ตัด บด หรือเคี้ยวให้อาหารมีขนาดชิ้นเล็กลง และลิ้นยังช่วยให้เกิดการคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากัน ทำให้อาหารถูกบดเคี้ยวได้มากขึ้นด้วย จึงมีผลให้เกิดการย่อยเชิงกลมากกว่าส่วนอื่นๆ
ลำไส้เล็กเป็นส่วนของทางเดินอาหารที่มีบทบาทในการย่อยทางเคมีมากที่สุด เพราะการย่อยสารอาหารโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตเกิดได้อย่างสมบูรณ์ในส่วนนี้ แม้ว่าจะมีการย่อยของสารอาหารคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนมาบ้างแล้วแต่ก็เป็นการย่อยที่ยังไม่สมบูรณ์
*********************************************************
65. ทางเดินอาหารของคนมีหลายชนิด ยกเว้นข้อใด
        1. ตับ ตับอ่อน
        2. ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่
        3. กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร
        4. ปาก ทวารหนัก
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
ตับและตับอ่อนไม่ได้เป็นทางเดินอาหาร แต่จัดว่าเป็นอวัยวะที่ช่วยย่อยอาหาร โดยตับจะสร้างน้ำดีเพื่อหลั่งมาช่วยในการย่อยไขมัน ส่วนตับอ่อนจะสร้างเอนไซม์หลายชนิดและสร้างสารโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตซึ่งมีฤทธิ์เป็นเบสด้วย
*********************************************************
66. ข้อใดไม่ใช่สาเหตุของการเกิดอาการท้องผูก
        1. แดงชอบรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากกว่าผัก
        2. สมชายเป็นนักธุรกิจที่มีอาการเครียดอยู่ตลอดเวลา
        3. วิมลไม่ชอบออกกำลังกายและเล่นกีฬาทุกชนิด
        4. สมศรีชอบดื่มน้ำสะอาดมากๆ และรับประทานอาหารประเภทผักมากกว่าแป้งและเนื้อสัตว์
ตอบข้อ 4
เหตุผล
ข้อ 1 , 2 และ 3 เป็นลักษณะของพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาการท้องผูก แต่ข้อ 4 เป็นลักษณะที่ช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด ส่วนการดื่มน้ำและรับประทานผักหรือผลไม้มากๆ จะช่วยในการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี
*********************************************************
67. เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้วผ่านกระบวนการย่อยจนถึงส่วนของลำไส้ตรง ใช้เวลานานประมาณกี่ชั่วโมง
        1. 3 ชั่วโมง
        2. 6 ชั่วโมง
        3. 12 ชั่วโมง
        4. 24 ชั่วโมง
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
ระยะเวลาที่อาหารผ่านทางเดินอาหารจะมีกระบวนการย่อยและการดูดซึมซึ่งมีระยะเวลานาน ซึ่งกว่าจะผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่ส่วนของลำไส้ตรงต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง แต่อาจจะอยู่ในลำไส้ตรงนานถึง 3 วัน ถ้ากากอาหารมีน้อยจนกว่าจะมากพอที่จะเกิดการปวดอุจจาระ
*********************************************************
68. ข้อใดกล่าวเกี่ยวกับไส้ติ่ง ( appendix ) ของคนไม่ถูกต้อง
        1. เป็นส่วนของลำไส้เล็กตรงปลายสุดต่อกับลำไส้ใหญ่
        2. เป็นส่วนของทางเดินอาหารส่วนหนึ่งที่ไม่มีหน้าที่ในการย่อยอาหาร
        3. ไส้ติ่งมักอักเสบได้ถ้ามีอาหารผ่านเข้าไปในช่องเปิด
        4. อาการอักเสบของไส้ติ่งอาจเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเกิดการอุดตัน
ตอบข้อ 1.
เหตุผล
ไส้ติ่งเป็นส่วนของลำไส้ใหญ่ส่วนต้นหรือใกล้ๆ กระเปาะลำไส้ใหญ่ มีลักษณะเป็นลำไส้เล็กๆ ปลายตัน มีช่องเปิดซึ่งเป็นส่วนที่อาจทำให้อาหารตกลงไปแล้วเกิดการอักเสบได้
*********************************************************
69. ทวารหนัก ( anus ) มีลักษณะอย่างไรในการช่วยให้เกิดการขับถ่าย
        1. เป็นส่วนของลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่าลำไส้ตรง
        2. เป็นกล้ามเนื้อหูรูดที่แข็งแรงมากทำหน้าที่บีบตัวช่วยให้เกิดการขับถ่าย
        3. มีการสร้างน้ำเมือกมาหล่อลื่นกากอาหาร
        4. ข้อ 1 , 2 และ 3 ไม่ผลต่อการขับถ่าย
ตอบข้อ 2.
เหตุผล
ลักษณะของทวารหนักที่เป็นกล้ามเนื้อหูรูดที่แข็งแรงมากจะมีบทบาทในการขับถ่าย
*********************************************************
70. ข้อใดไม่ใช่หน้าที่ของลำไส้ใหญ่ของคน
        1. การดูดกลับน้ำ แร่ธาตุ และวิตามิน
        2. การดูดกลับกลูโคสจากกากอาหาร
        3. มีการสังเคราะห์วิตามินดีและวิตามินบี 2
        4. มีการสังเคราะห์วิตามินเคและวิตามินบี 12
ตอบข้อ 3.
เหตุผล
ทุกข้อเป็นหน้าที่ของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ยกเว้นข้อ 3
*********************************************************

1 ความคิดเห็น: